คุณหมอวีซ่า (15 ก.พ. 2554)

คุณหมอวีซ่าฉบับนี้ มี case study ที่น่าสนใจหลายกรณีมาเล่าสู่กันฟัง

เรื่องที่1 – เป็นเรื่องเกี่ยวกับการขอสัญชาติออสเตรเลีย (Australian citizenship)

เผอิญช่วงนี้มีคนมาสอบถามคุณหมอวีซ่าเกี่ยวกับเรื่องการขอสัญชาติออสเตรเลียวันละหลายเคสและบางเคสก็น่าสนใจมากจึงขอหยิบยกเรื่องนี้มาเขียนเป็นเรื่องแรก

(1.1) กรณีของ ด.ญ. Neo Wang Hudson ที่ถูกอิมมิเกรชั่นปฏิเสธสัญชาติออสเตรเลียเนื่องจากคุณพ่อที่เป็นชาวออสเตรเลีย (แต่งงานกับคุณแม่ที่เป็นชาวจีน) นั้นไม่ใช่พ่อบังเกิดเกล้า (biological father) แต่เป็นคุณพ่อที่ตามศัพท์กฎหมายเรียกว่า “Putative father” หรือเป็นที่รู้กันทั่วไปว่าเป็นคุณพ่อของ ด.ญ. Neo คุณแม่แต่งงานกับคุณพ่อ Stephen Hudson 3 เดือนก่อนคลอด ด.ญ. Neo และตามกฎการขอสัญชาติออสเตรเลียสำหรับเด็กที่คลอดหลังวันที่ 26 January 1949 สามารถขอสัญชาติตามคุณพ่อหรือคุณแม่คนใดคนหนึ่งที่ถือสัญชาติออสเตรเลียได้ ดูเผินๆแล้วก็น่าจะเข้าข่าย แต่อิมมิเกรชั่นกลับปฏิเสธวีซ่าด้วยเหตุผลว่าไม่ได้เป็นสายเลือดเดียวกัน คุณพ่อจึงนำเรื่องไปขึ้นอนุญาตฯ AAT (Administrative Appeals Tribunal) ก็ปรากฎว่าชนะเคส ทาง Tribunal ได้ตัดสินว่า คำว่า “parent” ไม่จำกัดอยู่แต่เฉพาะต้องโยงกันทางด้าน “เชื้อสาย” เท่านั้น แต่เป็นการผูกพันทางด้านความเป็น พ่อ – แม่ – ลูก กัน พันธะทางการเลี้ยงดู และการที่พ่อหรือแม่รับว่าเป็นลูกของตน และคนอื่นรอบข้างที่รู้จัก ก็รู้ว่าครอบครัวนี้เป็นพ่อแม่ลูกกันก็เพียงพอที่จะขอสัญชาติให้ลูกแล้ว หากท่านผู้อ่านสนใจก็หาอ่านได้จากคำตัดสินเคส Hudson V Minister for Immigration and Citizenship [2010] FCAFC นะคะ

(1.2) เป็นกรณีอุทธรณ์การโดนปฎิเสธสัญชาติออสเตรเลียของนาย Wolstenholme ที่เป็นชาวอังกฤษ และปรากฎว่าผู้ยื่นก็ได้ชนะเคสจากคำตัดสินของ AAT อีกหนึ่งกรณี โดยอิมมิเกรชั่นอ้างว่า นาย Wolstenholme มีจำนวนวันที่อาศัยอยู่ในประเทศออสเตรเลียไม่ครบถ้วนตามกำหนดที่จะได้สัญชาติ เนื่องจากหน้าที่การงานในฐานะที่เป็นวิศวกรได้บังคับให้ตนต้องไปทำงานรับใช้เพื่อมนุษยชนในเขตทุรกันดาร เช่น ที่ Montserrat (หลังภูเขาไฟระเบิด) ที่ Kosvo และ Bosnia (กรณีสงคราม Balkans) ที่ Mozambigue (หลังอุทกภัย) ที่ Ethiopia (เพื่อยกระดับมาตรฐานศูนย์รักษา HIV และ TB) และที่ Afghanistan (จากการขัดแย้งของเผ่า Taliban) และโครงการอื่นๆอีกมากมายทั่วโลก และด้วยภาระทางหน้าที่การงานนี่เองที่ทำให้นาย Wolstenholme ไม่สามารถมีเวลาอาศัยอยู่ในออสเตรเลียอย่างครบถ้วนให้ได้มาซึ่งสิทธิในการขอ Citizenship ได้ ท่านอนุญาโตตุลาการได้ชมเชยผลงานเพื่อหลักมนุษยธรรมของนาย Wolstenholme ว่าควรเป็นที่น่าภูมิใจของชุมชนชาวออสเตรเลียที่จะให้สัญชาติกับบุคคลที่มีชื่อเสียงในการให้บริการระดับนานาชาติได้เช่นนี้ จึงได้ตัดสินให้สัญชาติกับผู้ยื่นรายนี้ไป เป็นเรื่องที่น่าสนใจนะคะ และท่านผู้อ่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้จาก Case Wolstenholme V MIAC [2010] AATA 315 (30 April 2010)

จะเห็นได้ว่าบางครั้งกฎหมายก็มีข้อยกเว้นให้กับการยื่นเรื่องขอวีซ่าในหลายกรณีที่เราคิดไม่ถึง อย่างเช่น กรณีคุณพ่อชาวออสซี่ของน้องคนหนึ่งที่ได้เสียชีวิตไปหลายปีแล้ว และคุณแม่ได้ให้กำเนิดเขาในเมืองไทย เขาก็โตเมืองไทยด้วย และตลอดที่ผ่านมา ก็ไม่เคยเข้าไปลองขอสัญชาติ และไม่เคยคิดว่าตนเองจะมีสิทธิ์ได้สัญชาติตรงนี้ อุตส่าห์เสียเงินเสียทองขอวีซ่านักเรียนมาเรียนออสเตรเลียอยู่ตั้งหลายปี ทั้งๆที่มีทางขอสัญชาติที่นี่ได้ ประหยัดตังค์ค่าเรียน แถมมีสิทธิ์ทำงานและได้ Medicare ด้วย

เรื่องที่2 – เป็นเรื่องของวีซ่านักเรียนที่โดนยกเลิกเพิกถอนกันอย่างถี่ๆเป็นกิจวัตรประจำวันกันในทุกวันนี้

คุณหมอวีซ่าอยากนำเรื่องนี้มาเขียนชี้แจงอีกครั้งเพื่อเป็นข้อมูลให้กับน้องๆนักเรียนนานาชาติที่ไม่เข้าใจกฎเกณฑ์หรือได้รับคำแนะนำมาอย่างผิดๆจากเอเย่นที่ไม่เชี่ยวชาญกฎหมายทางด้านนี้จนทำนักเรียนแทบจะเสียอนาคตไปเลยมากต่อมากรายแล้วค่ะ คุณหมอวีซ่าอยากจะเปรียบเทียบให้ฟังว่าเสมือนกับวิชาชีพในสาขาการแพทย์ งานของ Migration Agents ต้องอาศัยความรู้ที่สั่งสมร่ำเรียนและประสบการณ์ชั่วโมงบินในการทำเคส และแต่ละคนถึงจะมีความรู้ทางกฎหมายการทำวีซ่าทั่วๆไป แต่ความชำนาญก็แตกต่างกันไป บ้างก็ชำนาญในวีซ่านักเรียน บ้างก็วีซ่าธุรกิจ วีซ่าครอบครัว ฯลฯ

ในสายทำวีซ่า – คุณหมอวีซ่าคิดว่าผู้ที่ทำงานในระดับมืออาชีพทั้งหลายจะเข้าใจจุดนี้ดี อย่างลูกค้ามาหาคุณหมอวีซ่าให้ช่วยยื่นวีซ่า refugee คุณหมอวีซ่าก็จะไม่รับยื่นเพราะไม่เชี่ยวชาญในวีซ่าตัวนี้ แต่จะส่งต่อให้ทนายหรือเอเย่นที่เขาชำนาญในการยื่นวีซ่าตัวนี้เป็นต้น หรือกรณีเอเย่นนักเรียนที่ไม่ได้เรียนกฎหมายอิมมิเกรชั่นมา และไม่ได้ขึ้นทะเบียนเป็น Registered Migration Agent อย่างถูกต้องตามกฎหมาย ก็ไม่สมควรไปให้คำแนะนำน้องๆนักเรียนอย่างผิดๆว่าแค่ให้ไปซื้อใบหมอเข้าไปพบอิมฯ วีซ่าก็จะไม่โดนแคนเซิล การทำเช่นนี้ ปรากฎว่านักเรียนกลับโดนยกเลิกวีซ่ากลับมากันเป็นแถวๆ เพราะได้ทำเอกสารที่ไม่เป็นจริงไปหลอกเจ้าหน้าที่ อย่างนี้ไม่พึงทำนะคะ เป็นคำแนะนำที่ผิด

เนื่องจากเนื้อที่จำกัด ฉบับนี้คุณหมอวีซ่าแค่ขอให้ข้อมูลคร่าวๆแก่น้องๆที่มีปัญหาหรือเพื่อนๆมีปัญหาโดนโรงเรียนแจ้งยกเลิก COE ซึ่งส่งผลให้วีซ่าต้องโดนยกเลิกภายใน 28 วันตามขบวนการของ Automatic Student Visa Cancellation นั้นว่าจะต้องทำอย่างไรในขั้นต้นนะคะ เรื่องแบบนี้ถือเป็นเรื่องที่ serious มากๆ การเข้าไปรายงานตัวกับอิมฯภายใน 28 วันตามที่น้องๆได้รับกำหนดมา ก็ไม่ใช่จะส่งผลดีต่อตนเองเสมอ ต้องดูที่เหตุผลหลายอย่างเป็นองค์ประกอบ เวลาวีซ่าโดน cancel มา เรื่องจะยุ่งยากมากต้องเสียเงินเสียทองไปขึ้น MRT (Migration Review Tribunal – หรือ อนุญาโตตุลาการรับเรื่องอุทธรณ์จากการยื่นวีซ่าที่ไม่ประสบความสำเร็จ) หรือไม่ก็ต้องกลับไทยและโดนลงทัณฑ์บณ ban 3 ปี กลับเข้าออสฯไม่ได้ด้วยวีซ่าชั่วคราวใดๆทั้งสิ้น โดยเฉพาะตามสถานการณ์ปัจจุบัน หากโดนกลับในลักษณะแบบนี้ เรียกว่าแทบไม่ต้องหวังจะได้กลับมาอีกเพราะสถานฑูตฯ ช่วงนี้เคี่ยวสุดๆเลยเชียวแหละ! เอาเป็นว่า ถ้าน้องๆคนไหนได้รับแจ้งจากทางโรงเรียนว่าจะโดนยกเลิกวีซ่าน้องๆ มี 2 ทางเลือกใหญ่ๆคือ:

  1. เข้าไปรายงานตัวกับอิมมิเกรชั่นภายใน 28 วัน หากมั่นใจว่าตนเองมีเหตุผลที่น่าเห็นใจ (Compelling Reasons) เพียงพอที่จะขอให้อิมฯไม่ยกเลิกวีซ่าเราภายใต้ มาตรา 116
  2. ถ้าไม่เข้าไปรายงานตัวภายใน 28 วัน วีซ่านักเรียนน้องก็จะโดนยกเลิกโดยอัตโนมัติในวันที่ 29 โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 137J อยู่ดี แต่ก็ไม่ได้แปลว่าเรียกคืนมาไม่ได้นะคะ มีสิทธิ์เรียกคืนได้ตามกระบวนการ ที่เรียกว่า Revocation of Student Visa Cancellation แต่ต้องมีเหตุผลที่ดีเช่นกัน

ไว้ฉบับหน้าคุณหมอวีซ่าจะเขียนรายละเอียดเกี่ยวกับกระบวนการยกเลิกวีซ่านักเรียนและแนะวิธีที่ถูกต้องให้ว่าจะต้องทำอย่างไรจึงจะมีโอกาสได้คืนพร้อมยกตัวอย่างบางเคสจากเคสมากมายที่คุณหมอวีซ่าเคยช่วยให้นักศึกษานานาชาติจากทั่วโลกได้วีซ่าคืนมากันอย่างไรทั้งๆที่โดนยกเลิกไปแล้วนะคะ

เรื่องสนุกน่าสนใจเช่นนี้ อย่าลืมติดตามอ่านใน Thai Press ฉบับถัดไปนะคะ

เรื่องวีซ่าต้องยกให้ CP – SURE สุดแล้ว!

มีคำถามเกี่ยวกับการสมัครหรือสถานะวีซ่าออสเตรเลียของคุณ? ต้องการสมัครเพื่อศึกษาต่อ ทำงาน หรืออาศัยอยู่ในออสเตรเลีย? สามารถขอคำแนะนำจากทีมคุณหมอวีซ่าได้ที่: