16 November 2011

ตลอดหลายปีที่ผ่านมา “ประเทศออสเตรเลีย” จัดได้ว่าเป็นประเทศที่ได้รับความนิยมในอันดับต้นๆสำหรับนักเรียน นักศึกษานานาชาติที่กำลังมองหาช่องทางไปศึกษาต่อต่างประเทศ เพราะนอกจากจะมีระดับการศึกษาที่ได้มาตรฐานโลกแล้ว สภาพภูมิอากาศและ สภาวะทางสังคมประกอบกับภูมิประเทศอันสวยงามตระการตาและผู้คนที่เป็นมิตร ทำให้ 4 หัวเมืองหลักของประเทศออสเตรเลียทั้งนคร Melbourne (อันดับที่หนึ่ง), Sydney, Adelaide และ Perth ถึงกับ ติดอันดับเป็นหนึ่งใน 10 ของเมืองที่น่าอยู่ที่สุดของโลก (การจัดอันดับ “เมืองน่าอยู่ที่สุดในโลก” ประจำปี 2554 เกษตรเดลี่ กันยาฯ 2011) ดังนั้น การได้รับวีซ่านักเรียนเพื่อเข้ามาศึกษาต่อในออสเตรเลีย จึงเป็นความใฝ่ฝันของนักเรียนนานาชาติจากทั่วโลก รวมทั้งนักเรียน/นักศึกษาไทยด้วย หากศึกษาจากประวัติกฎหมายเข้าเมืองของออสเตรเลีย ท่านผู้อ่านจะพบว่าในอดีตกาล รัฐบาลออสเตรเลียมีการควบคุมอัตราการอนุมัติวีซ่านักเรียนที่แน่นหนามาก จนกระทั่งในช่วงปี ค.ศ. 2006-2007 จนถึงประมาณต้นปีค.ศ. 2010 ภายใต้การนำของพรรค Liberal Party ที่ส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ รัฐบาลออสเตรเลียได้ปล่อยวีซ่านักเรียนโดยเปิดให้อาศัยช่องทางทางการศึกษาเป็นสะพานเชื่อมสู่การขอวีซ่าถาวร (Permanent Resident – PR) เพื่อให้นักศึกษาที่สำเร็จการศึกษาในประเทศออสเตรเลียสามารถอยู่ทำงานและตั้งหลักแหล่งอาศัยอยู่ในออสเตรเลียได้อย่างถาวรต่อมา โครงการนี้ได้ประสบความสำเร็จอย่างมาก จนกระทั่งรัฐบาลฯมาพบว่า มีนักเรียนนักศึกษาและตัวแทนต่างๆรวมทั้งสถาบันการศึกษาเอกชนระดับล่างหลายแห่งได้ผลิตเอกสารปลอม หรือ ตบแต่งเรื่องปลอมไปหลอกรัฐบาลฯให้ออกวีซ่านักเรียนให้ ตัวอย่างที่เห็นบ่อยก็จะเป็นพวกเอกสารรับรองทางการเงิน การจดทะเบียนสมรสปลอม เป็นต้น จนกระทั่งมีจำนวนมหาศาลเสียจนรัฐบาลฯต้องเข้ามาก้าวก่ายและกวาดล้าง เราจึงพบว่าตั้งแต่ต้นปี ค.ศ. 2010 เป็นต้นมา รัฐบาลออสเตรเลียได้ทำการประกาศการเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับกฎวีซ่าประเภทต่างๆ โดยเฉพาะที่มีความเกี่ยวโยงกับวีซ่านักเรียน เช่น วีซ่าทักษะประเภทต่างๆอย่างฉับพลันและอย่างไม่หยุดยั้งจนทุกฝ่ายตั้งตัวกันไม่ติด ทั้งสถาบัน เอเย่นต์ และกระทั่งตัวนักเรียน/นักศึกษาเองก็ตามจนทำให้เกิดความล้มเหลวของโครงการวีซ่านักเรียนของออสเตรเลียครั้งใหญ่ และสืบเนื่องจากการที่รัฐบาลออสเตรเลียได้ทำการควบคุมจำนวนวีซ่านักเรียนอย่างชนิดที่เรียกว่าเคี่ยวสุดๆ ส่งผลให้รายได้ของประเทศทางสายนี้ซึ่งเกี่ยวโยงไปถึงรายได้ที่เคยได้รับจากอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ที่พัก คมนาคม ฯลฯ ก็พากันตกอย่างฮวบฮาบ รัฐบาลจึงต้องแต่งตั้งให้ the Hon Michael Knight AO จัดทำวิจัยเพื่อทบทวนเรื่องใหญ่นี้โดยเฉพาะที่เรียกว่า Strategic Review of the Student Visa Program 2011 หรือสั้นๆว่า “the Knight Paper” เพื่อศึกษาและหาข้อสรุปเกี่ยวกับวีซ่านักเรียน โดยสภามหาวิทยาลัยออสเตรเลีย หรือ Universities Australia ซึ่งเป็นตัวแทนของมหาวิทยาลัยในประเทศออสเตรเลียก็ได้จัดทำรายงานเพื่อเสนอไปยัง the Knight Paper ด้วยถึงข้อสรุปและแนวโน้มที่ทางสภาคิดว่าเหมาะสมกับการจัดการวีซ่านักเรียน และเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2011 ท่าน Michael Knight ก็ได้ออกข้อเสนอ Strategic Review of the Student Visa Program 2011 – Recommendations ไปถึงรัฐบาลออสเตรเลียตามที่เห็นเหมาะสม การเปลี่ยนแปลงระบบวีซ่านักเรียนของออสเตรเลียครั้งใหญ่นี้มีข้อเสนอด้วยกันทั้งหมด 41 ข้อ ซึ่งมีรายละเอียดค่อนข้างมาก หากท่านผู้อ่านท่านใดสนใจต้องการอ่านเพิ่มเติม ก็สามารถติดตามอ่านได้ที่ www.immi.gov.au/students/knight/ ภายหลังจากที่ท่าน Michael Knight ได้ออกรายงานฉบับนี้ออกมา และเมื่อวันที่ 22 กันยายนที่ผ่านมา ท่านวุฒิสมาชิก Chris Evans จากกระทรวง Tertiary Education, Skills, Jobs and Workplace Relations และท่านรัฐมนตรี Chris Bowen MP จากกระทรวง Immigration and Citizenship ได้แถลงการณ์ร่วมกันเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงทางด้านระบบการศึกษาของออสเตรเลีย โดยเฉพาะในส่วนของ International Education Sector สำหรับนักเรียน หรือนักศึกษาต่างชาติที่ต้องการเข้ามาเรียนต่อยังประเทศออสเตรเลีย โดยท่านรัฐมนตรี Chris Bowen MP ได้กล่าวไว้สั้นๆ เกี่ยวกับระบบการศึกษาของประเทศออสเตรเลียไว้ดังนี้ “ Our international education sector is world class, and the reforms announced today will help entrench Australia as a preferred destination for international students,” “The reforms will assist in ensuring Australia remains an attractive study option and will offer practical support for international education providers that have been under pressure as a result of the high Australian dollar.” (มาจาก https://www.minister.immi.gov.au/media/cb/2011/cb172439.htm) ในช่วงที่ผ่านๆมา ค่าเงินดอลลาร์ของออสเตรเลียนั้นขึ้นสูงมาก กอปรกับความเข้มงวดในการขอวีซ่านักเรียนเข้าประเทศออสเตรเลีย ทำให้หลายๆคนถอดใจที่จะมาออสเตรเลีย และเลือกที่จะไปประเทศอื่นแทน มีนักเรียนต่างชาติจำนวนมากที่ต้องการเข้ามาศึกษายังประเทศนี้ แต่ก็ติดเรื่องของหลักฐานการเงิน หรือระดับความสามารถทางภาษา หรือบางคนอยากที่จะหาประสบการณ์ทำงานในออสเตรเลีย แต่ก็ไม่เข้าเกณฑ์ที่จะสมัคร Graduate Skills Visa (sc 485) ก็เลยต้องกลับบ้านกันไปตามๆกัน โดยมีอีกหลายสาเหตุมากมายเลยค่ะ ซึ่งการที่ทั้งสองท่านรัฐมนตรีออกรายงานฉบับนี้ออกมาเพื่อที่จะบอกว่า ออสเตรเลียเตรียมพร้อมที่จะเปลี่ยนแปลงแล้วค่ะ และผลดีของการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ก็ไม่ใช่เพื่อใครที่ไหน ก็เพื่อนักเรียนต่างชาตินั่นเอง การเปลี่ยนแปลงวีซ่านักเรียนครั้งนี้ มีอะไรบ้าง ? โดยรวมแล้วการเปลี่ยนแปลงหลักๆก็เห็นจะได้แก่ การเปลี่ยนแปลงการพิจารณาวีซ่านักเรียน (new streamlined visa processing arrangements) ลดจำนวนหลักฐานทางการเงินลง อนุญาตให้นักเรียนทำงานได้ 40 ชั่วโมงต่อทุกสองสัปดาห์ ตลอดจนให้โอกาสแก่นักเรียนที่จบการศึกษาในออสเตรเลียได้ทำงาน ซึ่งตัวนักเรียนหรือนักศึกษาจะต้องพิสูจน์ให้ได้ว่าตัวเองนั้นเป็น “Genuine Temporary Entrant” ก็คือเป็นบุคคลที่มีความประสงค์ต้องการจะเข้ามาเรียนที่ออสเตรเลียอย่างแท้จริง ซึ่งเกณฑ์อันนี้จะเป็นวัตถุประสงค์หลักที่ทางอิมมิเกรชั่นจะใช้ในการพิจารณาว่าจะให้วีซ่าแก่เราหรือไม่นั่นเองค่ะ เนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงค่อนข้างมาก คุณหมอวีซ่าจึงขอนำมาลงเฉพาะข้อมูลที่เป็นประโยชน์และเกี่ยวข้องกับนักอ่านคนไทยละกันนะคะ The Genuine Temporary Entrant (GTE) Requirement (Recommendation 1 and 2) – The Genuine Temporary Entrant (GTE) Requirement นับเป็นการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญที่สุดของวีซ่านักเรียนรูปโฉมใหม่นักเรียนหรือนักศึกษาท่านใดที่ต้องการจะมาศึกษาต่อยังประเทศออสเตรเลียจะต้องผ่านเกณฑ์ GTE ตามที่อิมมิเกรชั่นกำหนด ซึ่งการนำหลักการนี้มาใช้จะช่วยให้การพัฒนาระบบวีซ่านักเรียนของออสเตรเลียเป็นไปอย่างมีระบบมากขึ้น กล่าวคือนักเรียนจะต้องพิสูจน์ให้ได้ว่าเราตั้งใจจะมาอยู่ที่ออสเตรเลียเพียงชั่วคราว และมีจุดประสงค์ที่จะมาเพื่อการศึกษาต่ออย่างแท้จริงโดยไม่มีประสงค์อื่นแอบแฝง ทางอิมมิเกรชั่นจึงจะพิจารณาออกวีซ่าให้ ปัจจัยหลักๆที่ทางอิมมิเกรชั่นจะนำมาพิจารณาในการออกวีซ่านักเรียนให้มีทั้งหมด 4 ปัจจัยสำคัญด้วยกัน ได้แก่ – สถานภาพของนักเรียนจากประเทศของตน เช่น ประวัติพื้นเพของนักเรียนและครอบครัว สภาวะทางการเงิน เป็นต้นเจตนาของนักเรียนว่าจะมาทำอะไรที่ออสเตรเลีย (genuine intention) มาเรียนคอร์สระดับไหน เรียนจบแล้วจะเอาไปใช้ทำประโยชน์อย่างไรต่ออนาคตของตนประวัติวีซ่า เช่นเคยทำเรื่องย้ายถิ่นฐานไปที่ไหนมาไหม เคยถูกปฏิเสธหรือเพิกถอนวีซ่า หรือมีใครในครอบครัวติดประวัติอิมมิเกรชั่นมาหรือไม่ มีความรู้เกี่ยวกับคอร์สเรียนที่สมัครเรียน เกี่ยวกับสถาบันการศึกษา และการใช้ชีวิตในประเทศออสเตรเลียมากน้อยเพียงใด ผ่านสัมภาษณ์ไหม เป็นต้น สี่ปัจจัยนี้เป็นปัจจัยหลักที่อิมมิเกรชั่นจะนำมาพิจารณาในการออกวีซ่าให้กับนักเรียน ซึ่งได้มีผลเริ่มใช้แล้วตั้งแต่วันที่ 5 November 2011 ที่ผ่านมา The University Sector Streamlined Visa Processing (Recommendation 3) – นักเรียนหรือนักศึกษาคนไหนที่ลงเรียนหลักสูตรปริญญาตรีขึ้นไป หรือลงเรียน packaged courses เช่น ภาษากับหลักสูตรปริญญาในมหาวิทยาลัย หรือหลักสูตรวิชาชีพบวกกับหลักสูตรปริญญาในมหาวิทยาลัย ทางอิมมิเกรชั่นถือว่านักเรียนเหล่านี้เป็นประเภทที่มีความเสี่ยงต่ำ หรือที่เรียกว่า lower migration risk category (Assessment Level 1) ไม่ว่านักเรียนเหล่านี้จะมาจากประเทศใดๆก็ตาม ข้อนี้อาจไม่มีผลกระทบมากกับนักศึกษาไทยที่มาเรียนระดับมหาวิทยาลัย เพราะถ้าหาก Streamlined Visa Processing นั้นมีผลเริ่มใช้ จะทำให้การออกวีซ่าของนักเรียนนั้นไวมากขึ้น ข้อนี้คิดว่าน่าจะมีผลเริ่มใช้ในช่วงครึ่งหลังของปี 2012 แต่ทั้งนี้และทั้งนั้น ก็ต้องแล้วแต่สถานทูตฯแต่ละแห่งทั่วโลกจะปฏิบัติกันอย่างไรอีกด้วย ตอนนี้เมืองไทยเคี่ยวสุดๆ หวังว่าเมื่อกฎใหม่มีการประกาศใช้ เจ้าหน้าที่จะยอมผ่อนๆกันลงมาบ้างนะคะ The University Sector (Recommendation 4) – Post-Study Work Visa คุณหมอวีซ่าคิดว่าการเปลี่ยนแปลงในข้อนี้คงเป็นที่ถูกใจของใครหลายๆคนนะคะ เพราะว่าทางอิมมิเกรชั่นจะออก Post-Study Work Visa หรือวีซ่าทำงานหลังเรียนจบซึ่งน่าจะมีผลเริ่มใช้ตั้งแต่ต้นปี 2013 เป็นต้นไป นับแต่วันที่ GTE มีผลบังคับใช้ นักเรียนที่จบการศึกษาในระดับปริญญาตรี หรือโท (Bachelor or Master degree by coursework) จะ มีโอกาสขอวีซ่าทำงานต่อในออสเตรเลียได้อย่างถูกต้องตามกฎหมายเป็นเวลา 2 ปีนับจากปีที่จบการศึกษา ในขณะเดียวกันถ้าหากศึกษาในระดับ Master by Research หรือ PhD ก็จะมีโอกาสที่จะได้ทำงานในออสเตรเลียตั้งแต่ 3 ถึง 4 ปี โดยทางอิมมิเกรชั่นจะไม่กำหนดว่าต้องทำงานในสายอาชีพที่เกี่ยวข้องกับวิชาที่เรียนมาโดยตรง เท่ากับว่านักเรียนสามารถเลือกที่จะทำงานอะไรก็ได้ เพิ่มโอกาสในการทำงานระหว่างเรียน (More Flexible Work Entitlements – Recommendations 7 and 28) ที่ผ่านมา นักเรียนต่างชาติที่ลงเรียนหนังสือมีโอกาสทำงานได้ 20 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ แต่สืบเนื่องมาจาก Knight Review ชั่วโมงการทำงานของนักเรียนจะมีการเปลี่ยนแปลงให้สะดวกขึ้น เป็น 40 ชั่วโมงต่อทุก 2 สัปดาห์ (fortnight) โดยถัวเฉลี่ย โดยเริ่มนับจากวันจันทร์ ซึ่งกฎอันใหม่นี้จะเป็นผลดีต่อตัวนักเรียนและตัวนายจ้างเอง บางช่วงสถานที่ทำงานอาจจะยุ่ง หรือนักเรียนอาจจะติดสอบในอาทิตย์แรก แต่อาทิตย์ต่อมาว่าง ก็สามารถที่จะโยกชั่วโมงทำงานทั้ง 40 ชั่วโมงมาไว้รวมกันในอาทิตย์เดียวได้ ซึ่งกฎนี้จะช่วยให้นักเรียนสามารถทำงานได้มากกว่า 20 ชั่วโมงต่ออาทิตย์ แต่จะต้องไม่เกิน 40 ชั่วโมงต่อ 14 วัน คุณหมอวีซ่าคิดว่ากฎชั่วโมงการทำงานใหม่นี้นับว่าอลุ่มอล่วยต่อนักเรียนหรือนักศึกษาต่างชาติค่อนข้างมาก แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะทำผิดกฎของวีว่านักเรียนแอบไปทำงานเกินได้นะคะ เพราะการที่ทางอิมมิเกรชั่นอนุญาตให้เราทำงานนั้นก็เพื่อหาเงินค่าขนมเล็กๆน้อยๆ ระหว่างเทอม หรือหาประสบการณ์ชีวิตระหว่างที่ศึกษาอยู่ในประเทศออสเตรเลียเพียงเท่านั้น ซึ่งกฎนี้น่าจะเริ่มมีผลบังคับใช้ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2012 ค่ะ Improvements for Existing Student Visa Holders (Recommendations 24 and 25) – การเปลี่ยนแปลงของวีซ่านักเรียนสำหรับผู้ที่ถือวีซ่านักเรียนอยู่ในปัจจุบัน Knight Review ได้นำเสนอให้มีการเปลี่ยนแปลงการยกเลิกวีซ่านักเรียนโดยอัตโนมัติ (the automatic and mandatory student visa cancellation) ซึ่งโดยปกติที่ผ่านมา ถ้าหากนักเรียนไม่ไปเรียนหนังสือ สอบตก หรือทำงานเกิน 20 ชั่วโมง ก็จะโดนยกเลิกวีซ่านักเรียนโดยอัตโนมัติ ซึ่งข้อเสนอของวีซ่านักเรียนใหม่นี้จะยกเลิกกฎข้อนี้ไปทั้งหมด โดยอิมมิเกรชั่นจะหันมาพิจารณาเป็นรายกรณี หรือ case by case basis โดยหันมาพิจารณาที่รายบุคคล กับหลักฐานประกอบตามข้อเท็จจริงและเหตุผลที่ให้มาเป็นหลัก กล่าวคือ ถ้าหากอิมมิเกรชั่นพบว่าคนไหนละเมิดกฎจริง เช่นมีผลการเรียนไม่พอตามที่อิมมิเกรชั่นกำหนด (unsatisfactory attendance) ก็จะโดนยกเลิกวีซ่า แต่ถ้าเหตุผลเพียงพอ ก็จะไม่โดนยกเลิก ซึ่งการเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้ก็เพื่อการตัดสินที่เป็นธรรมแก่นักเรียนต่างชาติโดยตรงนั่นเอง นอกจากนี้ ทางอิมมิเกรชั่นฯยังจะเล็งไปควบคุมความประพฤติของเอเย่นต์นักเรียนและสถาบันการศึกษา ทั้งหลายด้วยโดยตรง เช่น ถ้าเอเย่นต์เจ้าไหนเป็นคนสมัครให้นักเรียนมาเรียนที่นี่ แล้วนักเรียนไม่ยอมไปเรียน มัวแต่ทำงาน หรือทางสถาบันถูกๆที่เรียกว่า visa colleges ทั้งปวงที่เปิดโอกาสให้นักศึกษาไม่เข้าเรียน แต่ไปทำงานกันหมด อะไรทำนองนั้น ต่อไปนี้ก็จะโดนทางอิมมิเกรชั่นสอบสวนและเพิกถอนใบอนุญาตได้ โดยทางสถาบันการศึกษามีหน้าที่ต้องแจ้งชื่อเอเย่นต์ที่ส่งนักเรียนตรงเข้าไปที่ PRISMS (Provider Registration and International Students Management System) ซึ่งเป็นหน่วยงานของกระทรวงศึกษษฯ หรือ DEEWR และหากมีการพบว่าเอเย่นต์รายไหนคอยแต่ส่งแต่นักเรียนเก๊ หรือนักเรียนที่ไม่ได้เป็น Genuine Temporary Entrant (GTE) เข้ามาละก็ ก็อาจจะมีการดำเนินการโดนเล่นงานทางกฎหมายสืบต่อไป กฎข้อนี้ก็น่าจะเริ่มใช้ในต้นปี 2012 Education Visa Consultative Committee (EVCC) – (Recommendation 37) มีการจัดตั้งคณะกรรมการที่ปรึกษาวีซ่านักเรียนขึ้น ซึ่งหน่วยงานนี้จะจัดตั้งขึ้นเพื่อเป็นกลไกในการขับเคลื่อนระหว่างหน่วยงานด้านการศึกษาสำหรับนักเรียนต่างชาติ รัฐบาลออสเตรเลีย และหน่วยงานสำคัญต่างๆที่เกี่ยวข้องกับวีซ่านักเรียน จุดประสงค์ในการจัดตั้งหน่วยงานนี้ขึ้นมาก็เพื่อให้ข้อมูลต่างๆ ทั้งทางด้านนโยบาย ปัญหาต่างๆ ตลอดจนผลตอบรับที่เกี่ยวข้องกับวีซ่านักเรียน ซึ่งการประชุมของคณะกรรมการในครั้งแรกจะเริ่มขึ้นภายในปลายปี 2011 การจัดตั้งหน่วยงานนี้ขึ้นมาก็เพื่อพัฒนาการติดต่อสื่อสาร และบริการต่างๆเกี่ยวกับวีซ่านักเรียน Higher Degree by Research (HDR) (Recommendations 5 to 9)การเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ชัดของวีซ่านักเรียนรูปโฉมใหม่อีกประการหนึ่ง ก็คือการเพิ่มสิทธิประโยชน์ให้กับนักเรียนที่มาออสเตรเลียเพื่อศึกษาวิจัยไม่ว่าจะเป็นปริญญาโทในระดับวิจัย หรือปริญญาเอก เป็นต้น มีสิทธิที่จะได้รับการทำงานหลังศึกษาจบเป็นเวลาสูงสุด 4 ปี ได้รับโอกาสในการทำงานโดยไม่จำกัดชั่วโมงระหว่างกำลังศึกษา นอกจากนี้ยังเลื่อนวันหมดอายุของวีซ่าออกไปอีก 6 เดือน ในระหว่างรอผล thesis และถ้าหากนักเรียนนั้นมาจากประเทศที่อยู่ใน assessment level อื่นๆแต่ต้องการมาเรียนในระดับ Higher Degree by Research (HDR) ก็จะได้รับสิทธิในการประเมินให้อยู่ในระดับ assessment level 1 ซึ่งเป็นระดับที่ดีที่สุดของ assessment levels ทั้งปวง ไม่ว่านักเรียนเหล่านั้นจะมาจากประเทศใดๆก็ตาม การเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้จะเริ่มมีผลบังคับใช้ในปี 2012 – 2013 ยกเว้นการเลื่อนวีซ่าออกไป 6 เดือนสำหรับนักเรียนที่มาเรียนด้านวิจัย ซึ่งจะเริ่มมีผลในตอนปลายปี 2011 Review of the Assessment Level Framework (Recommendation 32) อีกหนึ่งการเปลี่ยนแปลงที่อิมมิเกรชั่นต้องการนำเสนอก็คือการพิจารณาทบทวน Assessment Level Framework ที่ใช้ในปัจจุบันให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ในปัจจุบันตลาดการศึกษาในระดับนานาชาติมีการแข่งขันที่สูงมาก ออสเตรเลียเองก็มีการศึกษาที่ไม่เป็นสองรองใคร และถือเป็นสินค้าส่งออกที่สำคัญอย่างหนึ่งของประเทศออสเตรเลีย ดังนั้นทางอิมมิเกรชั้นจึงจะนำ a provider-based risk management approach หรือการจัดการทางด้านความเสี่ยงโดยหันไปให้ความสำคัญกับสถานศึกษา สถานศึกษาไหนที่มีมาตรฐานสูง ถือเป็นผู้ให้บริการที่มีความเสี่ยงต่ำ ไม่ว่าจะเป็นมหาวิทยาลัย หรือโรงเรียนต่างๆ ก็จะได้รับการประเมินที่มีความเสี่ยงน้อยกว่า สถานศึกษาที่ไม่ได้รับมาตรฐาน แต่ Review นี้จะยังไม่มีผลบังคับใช้และจะต้องได้รับการทบทวนหารือจากภาครัฐก่อนถึงจะประกาศใช้ค่ะ นอกจากนี้ยังมีการเปลี่ยนแปลงในเรื่องของวีซ่านักเรียนต่างๆที่คุณหมอวีซ่าคิดว่าผู้อ่านทั้งหลายควรจะรู้กันค่ะ – ออกวีซ่านักเรียนให้ก่อน 4 เดือนก่อนวันเริ่มเรียน อัปเดทค่าครองชีพทุกปี เพื่อกำหนดหลักฐานทางการเงินที่ถูกต้องให้กับนักเรียนต่างชาติที่ต้องการเข้ามาเรียนยังออสเตรเลีย นี่เป็นเพียงตัวอย่างที่คุณหมอวีซ่าเลือกมาแนะนำให้กับผู้อ่านทุกท่าน และคิดว่า the Knight Paper ครั้งนี้ จะก่อให้เกิดผลดีแก่นักเรียนทุกคนที่ตั้งใจมาทำการศึกษาที่ออสเตรเลีย โดยต่อไปนี้การขอวีซ่าก็น่าจะง่ายขึ้นสำหรับ ผู้ที่จะมาเรียนระดับมหาวิทยาลัย แถมยังมีโอกาสได้ทำงานหลังเรียนจบอีก 2-4 ปี ขณะเดียวกัน นักเรียนที่คิดจะมาเรียนระดับ diploma ราคาถูกๆ เพื่อใช้เป็นช่องทางมาทำงานดั่งสมัยก่อนก็คงทำไม่ได้อีกต่อไปแล้ว เพราะวีซ่าคงจะออกยากมากเป็นเงาตามตัวจากการประกาศใช้ระบบ GTE มาตั้งแต่วันที่ 5 November 2011 ยังมีการเปลี่ยนแปลงอีกมากมายที่คุณหมอวีซ่าไม่ได้กล่าวถึงไว้ รวมทั้งความสำคัญและความรุนแรงของเงื่อนไข Condition PIC 4020 ที่ให้อำนาจอิมมิเกรชั่นสามารถรื้อประวัติวีซ่าของนักเรียนนักศึกษาย้อนหลังกลับไปถึง 12 เดือน และหากพบว่าเคยมีการทำเรื่องปลอม หรือใช้เอกสารปลอมไปหลอกอิมฯให้ได้มาซึ่งวีซ่าที่ไม่พึงได้มาตั้งแต่แรก อิมมิเกรชั่นก็มีสิทธิปฏิเสธวีซ่าโดยทันที แถมยังสามารถลงทัณฑ์ต่อเนื่องได้อีก 3 ปีห้ามกลับเข้าออสเตรเลีย นอกจากผู้ยื่นวีซ่าจะสามารถชี้แจงเหตุผลจำเป็นที่จะไปส่งผลกระทบต่อประเทศหรือชาวออสเตรเลียได้อย่างเป็นที่ พึงพอใจ รายละเอียดที่คุณหมอวีซ่าลงไว้เป็นการเปลี่ยนแปลงที่คุณหมอมองว่าอาจจะมีผลกระทบต่อนักเรียน หรือผู้อ่านคนไทยทั้งหลาย ถ้าหากต้องการทราบรายละเอียดเพิ่มเติม สามารถอ่านได้ที่ https://www.immi.gov.au/students/knight/ จะเห็นได้ว่า การยื่นวีซ่านักเรียนเข้าออสเตรเลียในยุคนี้ ต้องอาศัยความละเอียดถี่ถ้วน และดำเนินการโดยผู้เชี่ยวชาญที่รู้กฎหมายเข้าเมืองของประเทศออสเตรเลียอย่างแท้จริง หากเดินผิดพลาด อาจส่งผลกระทบให้เสียประวัติ และตัดโอกาสในการได้วีซ่าตัวอื่นๆต่อไปในอนาคตของทั้งตนเองและคนในครอบครัวได้ จึงควรปรึกษาผู้รู้ เสมือนเวลาป่วยก็ควรหาหมอรักษาเสียให้ถูกวิธี เป็นต้น

มีคำถามเกี่ยวกับการสมัครหรือสถานะวีซ่าออสเตรเลียของคุณ? ต้องการสมัครเพื่อศึกษาต่อ ทำงาน หรืออาศัยอยู่ในออสเตรเลีย? สามารถขอคำแนะนำจากทีมคุณหมอวีซ่าได้ที่: