16 July 2012

สวัสดีค่ะ เมื่อต้นอาทิตย์ที่แล้ว (วันที่ 3 กรกฎาคม) ทางซีพี อินเตอร์ฯได้จัดงาน Skilled Migration Seminar 2012 เพื่อให้ความรู้และเสนอทางออกวีซ่าที่ดีๆให้น้องๆที่สนใจจะอยู่ทำงาน หรือสมัครอยู่อย่างถาวรต่อเนื่องหลังเรียนจบจากสถาบันออสเตรเลีย ปรากฎว่าได้รับเสียงตอบรับจากน้องๆมากมาย ต้องขอขอบคุณทุกๆคนที่ให้ความสนใจกันนะคะ และนอกจากนี้มีหลายๆคนที่ไม่สามารถไปร่วมงานได้ในวันนั้น จึงอยากให้ทางซีพีฯจัดอีก ไว้รอทราบข่าวประชาสัมพันธ์จากคอลัมน์คุณหมอวีซ่ากันนะคะ ถ้ามีงานอีกเมื่อไร คุณหมอวีซ่าขอรับรองว่าจะนำข่าวมาบอกกันอย่างแน่นอนค่ะ

ช่วงนี้ทีมงานของคุณหมอวีซ่าไม่ว่าจะเป็นที่ ซิดนีย์ กรุงเทพ เมลเบิร์น หรือเชียงใหม่ ต่างก็ได้รับโทรศัพท์เข้ามาสอบถามข้อมูลกันมากมายเกี่ยวกับวีซ่านักเรียน โดยเฉพาะตัวคุณหมอวีซ่าเอง วันๆต้องใช้สมองหนักมากเพื่อรับฟังและแก้ไขปัญหาวีซ่านักเรียนโดนปฏิเสธมาจากเอเจนท์อื่นมากมายเกือบทุกวัน บางกรณีวีซ่าก็โดนยกเลิก กลับมาไทยแล้วโดนสั่งห้าม 3 ปีกลับออสเตรเลียไม่ได้ เอเจนท์ยื่นวีซ่าให้ผิดประเภทบ้าง บ้างคุณสมบัติไม่ครบก็ยื่นเข้าสถานทูตฯ บ้างตกสัมภาษณ์ ฯลฯ สารพัดตัวอย่าง มากจนบางครั้งยังคิดอยากจัดสัมมนารวมเอเจนท์นักเรียนสักครั้ง เพื่อแบ่งปันและแลกเปลี่ยนคำแนะนำและข้อคิดที่ดีๆต่อกันเพื่อเป็นผลประโยชน์และช่วยน้องๆ นักเรียนให้ไม่ต้องโดนปฏิเสธวีซ่านักเรียนมากมายก่ายกองกันขนาดนี้ นับแต่วีซ่านักเรียนเปลี่ยนมาพิจารณาภายใต้กฎ GTE หรือ Genuine Temporary Entrant ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2011 เป็นต้นมา การขอวีซ่านักเรียนมาเรียนต่อออสเตรเลียทั้งแบบ onshore และ offshore นั้นยากกันเป็นแถวๆ บางกรณีกว่าจะมาถึงมือคุณหมอวีซ่าก็ยากเกินกว่าที่จะแก้ไขแล้ว ในวันนี้คุณหมอวีซ่าจึงขอรวบรวมตัวอย่างเรื่องราวที่เกิดขึ้นจริงมาเล่าให้น้องๆ นักอ่านทั้งหลายฟัง โดยใช้นามสมมุติเพื่อเป็นการเก็บเป็นความลับให้กับลูกค้าของเรานะคะ โดยหวังเป็นอย่างยิ่งว่าน้องๆทุกคนจะได้ใช้เป็นแนวทางในการยื่นขอวีซ่านักเรียนออสเตรเลียในยุคปัจจุบันที่ยากแสนยาก สิ่งใดที่พึงทำ ไม่พึงทำ หรือป้องกันได้ ก็จะได้หาวิธีเตรียมการเนิ่นๆก่อนการยื่นเอกสารเข้าไป เพื่อป้องกันการถูกปฏิเสธ หรือการโดนเพิกถอนวีซ่านะคะ

คิดว่าคงจะมีหลายๆคนคุ้นเคยกับคำว่า GTE แล้ว แต่ก็อาจจะมีท่านผู้อ่านบางท่านที่ไม่คุ้นเคย คุณหมอวีซ่าจึงขอยกคำนิยามของ GTE จากเว็บอิมมิเกรชั่นมาบอกกล่าวกันอีกรอบค่ะ

What is a genuine student?

A genuine student is a student who intends to obtain a successful educational outcome and has the language, educational and material background to have a reasonable chance of achieving this educational outcome.

Factors that are considered under the existing requirement to be a genuine applicant for entry and study as a student include: English language proficiency; financial capacity; prerequisite schooling; age requirements; and intention to comply with visa conditions. There are no changes planned to the genuine student requirement.

(Taken from: https://www.immi.gov.au/students/_pdf/2011-genuine-temporary-entrant.pdf)

GTE นั้นคือการพิจารณาว่าเด็กนักเรียนต่างชาติที่ต้องการมาเรียนต่อยังออสเตรเลียนั้น มีความตั้งใจจริงที่จะมาเรียน และจะเดินทางกลับประเทศบ้านเกิดหลังจากที่ศึกษาจบ โดยมีหลายๆปัจจัยที่อิมมิเกรชั่นนำเข้าไปประกอบการพิจารณาวีซ่า ไม่ว่าจะเป็นหลักฐานการเงิน ความสามารถทางภาษาอังกฤษ ประวัติการศึกษา อายุ หรือแม้กระทั่งความตั้งใจจริงในการมาศึกษาต่อ สำหรับนักเรียนที่ยื่นวีซ่านักเรียนภายใต้กฎ GTE บางคน ก็วีซ่าผ่านได้ภายในวันเดียว สำหรับบางคนที่ดูน่าสงสัย ทางอิมมิเกรชั่นไม่เชื่อว่าจะมาเรียนจริงก็อาจจะกินเวลาเป็นเดือนๆ หรือบางคนก็เป็น 6 เดือนก็มี ในวันนี้คุณหมอวีซ่าขอนำเรื่องราวของน้องๆที่โดนผลกระทบจาก GTE มาบอกกล่าวกันค่ะ

  1. เรื่องแรกที่จะเล่าให้ฟังกันวันนี้ เป็นเรื่องของน้อง A (นามสมมุติ) น้องเอนั้นเคยมาหาคุณหมอวีซ่าให้ช่วยขอวีซ่าคืน เพราะโดนกระทำมาจากโรงเรียน โรงเรียนได้ยื่น NCN ไปเพราะว่าน้องเอนั้นสอบตก แต่คุณหมอวีซ่าก็สามารถช่วยให้น้องเอได้วีซ่าคืน เพราะน้องเอนั้นไม่ได้ทำผิดอะไรเลย ตัวเองส่งงานครบทุกครั้ง แต่เนื่องจากทางโรงเรียนมีการบริหารการจัดการที่ไม่ดี ไม่ละเอียดรอบคอบ ก็เลยสามารถพิสูจน์ได้ว่าน้องเอนั้นไม่สมควรที่จะโดนแคนเซิลวีซ่าค่ะ และเมื่อตอนน้องเอนั้นไดวีซ่าคืน คุณหมอวีซ่าก็ย้ำแล้วย้ำอีกว่าต่อไปนี้จะต้องตั้งใจเรียน เพราะถ้าเกิดปัญหาอย่างนี้ขึ้นอีก ต่อให้เป็นคุณหมอวีซ่าก็จนปัญญาแล้วละค่ะ ผ่านไป 6 เดือน น้องก็ไม่ยอมไปเรียนอีก ไม่ยอมรักษาวีซ่าไว้ให้ดี ซึ่งก็ได้ข่าวทราบมาว่าน้องเอโดนอีกเอเจนท์หนึ่งดึงไปเปลี่ยนคอร์สเรียนในโรงเรียนที่ไม่ได้มาตรฐาน แต่ไม่ตรวจ attendance ซึ่งภายหลังคุณหมอวีซ่าได้รับเอกสารบางอย่างแจ้งมาจากอิมมิเกรชั่น แต่ก็ไม่สามารถโต้ตอบแทนน้องได้ เพราะน้องได้เปลี่ยนเอเจนท์ไปแล้ว คุณหมอวีซ่าเป็นห่วงมาก กลัวจะเกิดเรื่องอะไรขึ้น นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า วีซ่ามีค่ายิ่งทอง จงรักษาไว้ให้ดี อย่าไปทำให้เสียอีก เพราะครั้งนี้โอกาสที่จะได้กลับคืนมาอีกครั้ง คงเป็นไปไม่ได้แล้วละค่ะ
  2. เรื่องที่สอง เป็นเรื่องของคุณ B (นามสมมุติ) คุณบีนั้นเรียนอยู่ออสเตรเลียมานานนมแล้ว เรียนจบดิโพลม่ามา 3 ใบแล้ว และกำลังจะต่อใบที่ 4 แต่ก็โดนทางอิมมิเกรชั่นปฏิเสธอย่างไม่ใยดี เพราะอิมมิเกรชั่นไปสืบรู้มาว่าน้องบีนี้ ตลอด 5 ปีที่ผ่านมา กลับไทยเพียงแค่ 30 วันเท่านั้น ส่อเจตนาว่าจะอยู่ที่ออสเตรเลียถาวร ไม่แสดงถึงความตั้งใจจริงในการกลับบ้าน ก็เลยโดนปฏิเสธวีซ่าไปตามระเบียบ เพราะฉะนั้นใครที่กำลังจะต้องการต่อวีซ่าเรียนต่อดิโพลม่า หรือมีประวัติเสี่ยงแล้วละก็พึงระวังไว้ให้ดีนะคะ เพราะอิมนั้นรู้จริงค่ะ
  3. เรื่องที่สามนั้นมาจากน้อง C (นามสมมุติ) ที่ตอนแรกมาเรียนภาษา + ปริญญาโทในมหาลัยระดับท๊อป แต่เรียนภาษาไปเรื่อยๆ ปีกว่าแล้วก็ยังไม่ผ่าน เพราะมัวแต่ไปทำงาน make money จนกระทั่งมาเจอแฟนสาวที่ออสเตรเลีย ก็ตัดสินใจว่าทำวีซ่าติดตามดีกว่า กว่าจะตัดสินใจก็ได้พ้น gap period ที่ทางอิมมิเกรชั่นกำหนดไว้กว่า 5 เดือน gap period ก็คือผู้ใดที่ถือวีซ่านักเรียนสามารถเว้นเวลาได้สูงสุด 2 เดือนเท่านั้น ถ้าหากพ้นกว่านี้จะต้องลงเรียนต่อเนื่องไม่งั้นจะถือว่าผิดกฎหมาย จนในที่สุดน้องซีนั้นก็โดนปฏิเสธวีซ่า และตอนนี้ก็ไม่มีใครติดต่อน้องซีได้อีกเลย เรื่องนี้เป็นข้อเตือนใจที่ดีเรื่องหนึ่งเลยนะคะ น้องๆคนไหนที่ต้องการจะมาเรียนแล้วทำงานไปด้วย จริงอยู่ว่าทางออสเตรเลียใจดี อนุญาตให้เด็กนานาชาติอย่างเราทำงานได้ แต่ไม่ใช่หมายความว่าเราจะเอาเปรียบกฎของวีซ่านักเรียนโดยการทำแต่งาน แล้วตัวเองก็สอบตก เพราะไม่มีเวลาอ่านหนังสือหรือทำงานส่งไม่ทัน ตราบใดก็ตามที่เราถือวีซ่านักเรียน เราก็ควรจะไปเรียนหนังสือและตั้งใจสอบ เพราะในโอกาสหน้าน้องซีนั้นก็ยังมีโอกาสที่จะสมัคร Graduate Visa หรือพีอาร์ต่อไปได้
  4. เรื่องที่สี่มาจากคุณ D (นามสมมุติ) คุณดีนั้นได้โทรมาปรึกษากับทีมงานของคุณหมอวีซ่า คุณดีนั้นได้ยื่นวีซ่านักเรียนมาจากเมืองไทย โดยไม่ได้ใช้บริการของเอเจนท์ใดๆเลย คุณดีนั้นได้รับ offer letter CoE และได้ทำการศึกษาทุกอย่างมาอย่างดีแล้ว แต่กลับมาพลาดตรงการกรอกเอกสารยื่นขอวีซ่า เมื่อคุณดียื่นขอวีซ่าไปก็โดนปฏิเสธทันที ทั้งนี้เพราะกรอกเอกสารเข้าไปผิด ทำให้โดนปฏิเสธวีซ่าในที่สุด ไม่ผิดหรอกค่ะที่เราจะเลือกทำเอกสารเอง แต่ทุกคนก็ต้องยอมรับความเสี่ยงที่ว่าถ้าหากกรอกอะไรเข้าไปผิด นอกจากจะส่งผลกระทบถึงอนาคตในการขอวีซ่าออสเตรเลียในอนาคตตัวอื่นๆอีกด้วย เพื่อความปลอดภัยและเพื่อความชัวร์ ควรเลือกใช้เอเจนท์ที่น่าเชื่อถือ โดยเฉพาะเอเจนท์ที่ได้รับการรับรองจากทาง MIA (Migration Institute of Australia) ดีที่สุดค่ะ
  5. เรื่องที่ห้านี้มาจากคุณ E (นามสมมุติ) คุณอีนั้นมาออสเตรเลียโดยถือวีซ่านักเรียนมาเรียนภาษาในปี 2008 หลังจากเรียนจบก็ขอวีซ่าท่องเที่ยวอยู่ต่อในปี 2009 และ 2010 และในครั้งสุดท้ายที่ขอวีซ่านักเรียนมาก็อยู่เกินวีซ่าท่องเที่ยวไป 24 วัน และในตลอดช่วงที่วีซ่าท่องเที่ยวยังไม่หมดอายุนั้น คุณอีก็ไม่ได้ไปติดต่อเอเจนท์หรืออิมมิเกรชั่นใดๆเลย กว่าคุณอีจะไปติดต่อเอเจนท์นักเรียนก็อีก 8 วันวีซ่าท่องเที่ยวจะหมด ซึ่งแสดงให้เห็นว่าคุณอีนั้นไม่ได้มีความตั้งใจที่จะมาเรียนยังออสเตรเลียจริงๆ นอกจากนี้หลังจากกลับมาที่ไทยแล้ว คุณอีก็ยื่นวีซ่าขอมาเรียนดิโพลมา 2 ครั้ง แต่ก็โดนปฏิเสธทุกครั้ง ทั้งนี้เพราะทางสถานทูตไม่เชื่อว่าคุณอีนั้นต้องการจะมาเรียนจริงๆ และในครั้งล่าสุดที่นี้ที่ยื่นขอวีซ่านักเรียน (sc570) ก็โดนปฏิเสธอีก เพราะทางเจ้าหน้าที่ไม่เชื่อว่าเขาต้องการจะมาเรียนจริงๆค่ะ จากข้อมูลข้างต้น ท่านผู้อ่านจะเห็นว่าทางอิมมิเกรชั่นนั้นมีการเก็บหลักฐานการเดินทางเข้า-ออกของเราไว้ทุกครั้ง เค้าสามารถทราบได้ว่าวันนี้เราไปติดต่อสมัครเรียนมา หรือไปหาอิมมิเกรชั่นที่ไหนมา เป็นต้น
  6. เรื่องที่หกมาจากคุณ F (นามสมมุติ) เรื่องของคุณเอฟนี้น่าสงสารยิ่งนัก ถึงแม้จะไม่เกี่ยวข้องกับ GTE โดยตรง แต่เป็นอุทาหรณ์ที่ทุกคนควรรู้ค่ะ คุณเอฟนั้นถือวีซ่ามาเรียนต่อดิโพลมาที่ออสเตรเลีย (sc572) และระหว่างที่เรียนอยู่ก็ได้พบรักกับหนุ่มออสเตรเลีย และต้องการที่จะยื่นวีซ่าคู่ครองหลังจากวีซ่านักเรียนหมดอายุ แต่ในระหว่างที่วีซ่านักเรียนตัวแรกกำลังหมดอายุ คุณเอฟก็คิดว่าเขาต้องการที่จะลงเรียนปริญญาตรีต่อ ก็เลยมาสมัครเรียนและยื่นวีซ่าคู่ครองไปพร้อมๆกัน แต่ปรากฏว่าวีซ่านักเรียนของคุณเอฟนั้นติด 8534 – No further stay condition จากอนาคตที่สดใสที่จะได้อยู่รอวีซ่านักเรียนที่นี่ ได้อยู่กับแฟน กลับต้องกลับไทยและต้องไปขอวีซ่ามาเรียนต่อปริญญาตรีใหม่ และไม่รู้ว่าเมื่อไรวีซ่าจะผ่านอีกด้วย เพราะการทำวีซ่านักเรียนมาจากไทย ตอนนี้ก็ยากแสนเข็ญอยู่พอควร ตัวคุณเอฟนั้นก็ไม่เคยทราบมาก่อนเลยว่าตัวเองติด 8534 เพราะในเอกสารวีซ่าที่คุณเอฟได้รับมาจากสถานทูตและถือติดตัวมาโดยตลอดนั้นก็ไม่มีคอนดิชั่นตัวนี้ติดอยู่ มีเพียงแต่กระดาษใบเล็กๆแนบมา แต่ด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ของ คุณเอฟเลยดึงกระดาษใบนั้นออกเพราะไม่คิดว่ากระดาษใบนั้นสำคัญอะไร เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญมากนะคะ เราควรจะตรวจสอบเอกสารให้ครบถ้วนทุกครั้ง เพราะเอกสารทุกชิ้นที่ได้มาจากอิมมิเกรชั่นหรือสถานทูตถือเป็นเอกสารสำคัญ คุณหมอวีซ่าไม่อยากให้เกิดกรณีอย่างนี้กับนักเรียนคนใดอีก เพราะถ้าหากคิดว่าตัวเองติดคอนดิชั่น 8534 จะได้ดำเนินการแต่เนิ่นๆในการยื่นวีซ่าค่ะ ในปัจจุบันนี้การขอ waive condition 8503 หรือ 8534 นั้นทำได้ยากมาก ถ้าไม่เกิดเหตุตายร้ายดีจริงๆ ก็ยากที่จะไปขอเพิกถอน condition ตัวนี้ค่ะ
  7. เรื่องสุดท้ายที่คุณหมอวีซ่าขอมาบอกกล่าวในวันนี้เพิ่งเกิดสดๆร้อนๆเลยค่ะ มีน้องนักเรียนคนหนึ่งมาปรึกษากับคุณหมอวีซ่าเรื่องโดนปฏิเสธวีซ่า น้องคนนี้ คุณหมอวีซ่าขอให้ชื่อว่าน้อง G (นามสมมุติ) น้องจีนั้นเรียนจบในระดับปริญญาตรีมาแล้วในสาขา Communication Arts จากมหาวิทยาลัยดังในเมืองไทย และได้ไปปรึกษาเอเจนท์เจ้าหนึ่งในตึก World Tower ที่ George Street ให้ทำวีซ่าติดตามแฟน แต่เอเจนท์เจ้านั้นกลับแนะนำผิดๆให้น้องมาเรียนในปริญญาตรีซ้ำ ในสาขา Hospitality ในวิทยาลัยเอกชน ซึ่งเป็นสาขาที่ไม่ตรงกับสายที่น้องเรียนจบมา ทั้งๆที่น้องจีนั้นมีแฟน และสามารถทำเรื่องติดตามแฟนมายังออสเตรเลียได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย แต่เอเจนท์เจ้านี้กลับไม่ให้ทางเลือกที่ถูกต้องกับน้องจี อาจหวังตรงแค่ขอกินค่าคอมมิชชั่นจากโรงเรียนเป็นปัจจัยหลัก โดยไม่หวังดีต่ออนาคตของเด็กมาเป็นหลัก จนในที่สุดน้องจีก็โดนปฏิเสธวีซ่า แถมยังติดประวัติ หากจะมาออสเตรเลียอีกทีก็ต้องเหนื่อยกันเลยทีเดียว

ท่านผู้อ่านเห็นหรือยังคะว่าวีซ่านักเรียนภายใต้ GTE นั้นยากแค่ไหน ไม่ใช่ว่าใครอยากมาทำงานออสเตรเลียแล้วจะใช้วีซ่านักเรียนเป็นข้ออ้างได้เสมอไป ยุคความสะดวกเช่นนี้ได้หมดไปแล้ว ตั้งแต่ต้นปี 2010 เป็นต้นมา และก็มีแต่แนวโน้มที่ยากขึ้นทุกวัน ไม่มีแววจะผ่อนผันให้ง่ายลงเลย น้องๆจึงต้องตื่นกันมายอมรับและเข้าใจนโยบายที่เปลี่ยนไปอย่างมหาศาลของรัฐบาลออสเตรเลียให้ได้ จะได้ไม่ต้องมีเรื่องช้ำใจตามกันมาภายหลัง ทุกวันนี้จะมีน้องๆคนไทยโทรเข้ามาปรึกษาวันละหลายๆราย ว่าอยากมาเรียนไปด้วยทำงานไปด้วย บางคนอยากมาเรียนภาษา บางคนอยากมาทำงาน คุณหมอวีซ่าอยากจะเน้นย้ำตรงนี้ว่า “วีซ่านักเรียนไม่ใช่ทางออกเสมอไป” แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น การที่คุณหมอวีซ่ายกเรื่องราวของ GTE มาเล่าให้ฟัง ไม่ได้หมายความว่าวีซ่าออสเตรเลียนั้นทำไม่ได้แล้วนะคะ ยังมีอีกหลายวีซ่าที่เราสามารถทำได้ แต่เราต้องทำให้ถูกวีซ่าและถูกวิธี บางคนมีแฟนจริงและแฟนได้ปฏิบัติถูกต้องตามกฎหมายตอนขอวีซ่ามาครั้งแรก ก็อาจจะมาโดยทำวีซ่าติดตาม วีซ่าคู่หมั้น หรือวีซ่าคู่ครอง บางคนมีนายจ้าง ก็อาจจะทำวีซ่านายจ้างสปอนเซอร์แทน บางคนมีความสามารถ อยากจะยื่น EOI มาจากเมืองไทยก็ทำได้เช่นเดียวกันค่ะ ขอให้ยื่นวีซ่าให้ตรงเป้าหมายและตรงวัตถุประสงค์ที่จะเข้าประเทศเขา ตรงตามที่ตัวบทกฎหมายกำหนด ก็ไม่น่าจะโดนปฏิเสธนะคะ น้องๆคนไหนที่อยากจะเข้าออสเตรเลียควรจะเลือกใช้บริการเอเจนท์ที่เชี่ยวชาญในวีซ่าออสเตรเลีย ที่ผ่านการขึ้นทะเบียนมาอย่างถูกต้องตามกฎหมาย (MARA Registered Migration Agents) แต่กระทั่งในหมู่ Registered Migration Agents เองก็ใช่ว่าจะรู้และเก่งไปหมดกับทุกตัววีซ่า เราก็ต้องเลือกผู้ที่ชำนาญในสายวีซ่าที่เราจะยื่นมาเป็นหลักค่ะ ดั่งเช่นแพทย์ขึ้นทะเบียนมีเยอะ แต่ก็ไม่ใช่จะเชี่ยวชาญชำนาญไปทุกโรค หากเราเป็นโรคหัวใจ ก็ต้องหาหมอที่ชำนาญโรคหัวใจ ไม่ไปหาหมอที่ผ่าขาให้เราเป็นต้นในทำนองเดียวกัน หากได้รับคำแนะนำที่ผิดๆ หรือทำผิดวีซ่า หรือผิดวิธี ก็อาจจะโดนติดประวัติ หากติดประวัติครั้งหนึ่งแล้วลบยากจริงๆค่ะ

ส่วนใครที่คิดว่าตัวเองมีความตั้งใจจริงจะมาเรียนออสเตรเลีย แล้วกำลังมองหาคอร์สเรียนดีๆอยู่ คุณหมอวีซ่าก็ขอเชิญน้องๆที่ตั้งใจจะไปเรียนต่อ และในอนาคตอาจมีสิทธิ์ขอวีซ่าทำงานอย่างถูกต้อง ภายใต้การสปอนเซอร์ของรัฐ ACT ที่ในอดีตที่ผ่านมาได้ผ่านการสปอนเซอร์ผู้ยื่นขอวีซ่าโดยอาศัยทักษะของตนมามากต่อมากแล้ว (เป็นรัฐที่ใจดีค่ะ)

หรืออยู่ต่อโดยอาศัยทักษะของตนเอง หรือผู้ปกครองที่สนใจมาร่วมงาน “เตรียมความพร้อมเข้าสู่ University of Canberra“ มหาวิทยาลัยคุณภาพชั้นนำของออสเตรเลียใน

วันเสาร์ที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ.2555 เวลา 13.00-15.00
สถานที่ CP International Education and Migration Centre สาขากรุงเทพฯ
408/35 ชั้น 9 อาคารพหลโยธินเพลส ถ.พหลโยธิน เขตพญาไท กรุงเทพ 10400
จะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องไปเต็มๆ และพบกับคุณหมอวีซ่าโดยตรงเพื่อรับความกระจ่างเกี่ยวกับเรื่องเรียนจบแล้วอยู่ทำงานต่อที่ Canberra อย่างไร
ฝากบอกเพื่อนฝูงญาติมิตรที่ไทยด้วยว่า***ให้เตรียมใบผลการเรียน, ผลการสอบภาษาอังกฤษ (ถ้ามี) และ/หรือจดหมายรับรองการทำงาน(ถ้ามี) มาให้พร้อม
รับรองครบทุกข้อมูลที่คุณอยากรู้เปี่ยมๆเต็มๆ…และ ฟรี!!!… สำรองที่นั่งด่วนได้ที่โทร.02-2781236 หรือที่ education@cpinternational.com

cpinternational.com

มีคำถามเกี่ยวกับการสมัครหรือสถานะวีซ่าออสเตรเลียของคุณ? ต้องการสมัครเพื่อศึกษาต่อ ทำงาน หรืออาศัยอยู่ในออสเตรเลีย? สามารถขอคำแนะนำจากทีมคุณหมอวีซ่าได้ที่: