30 March 2015

สวัสดีค่ะ ผู้อ่านทุกท่าน กลับมาพบกับคุณหมอวีซ่ากันอีกครั้ง ปีนี้ช่างผ่านไปไวจริงๆนะคะ อาทิตย์หน้าก็เข้าสู่เทศกาลอีสเตอร์ ส่วนเมืองไทยก็จะเข้าสู่เทศกาลสงกรานต์ มีหลากหลายเทศกาลให้เที่ยวเล่นกันเลยทีเดียว น้องคนไหนได้กลับเมืองไทยช่วงสงกรานต์ก็อย่าลืมไปสวัสดีปีใหม่ญาติผู้ใหญ่กันนะคะ ส่วนน้องคนไหนที่ไม่ได้กลับไทยก็ขอให้มีความสุขกับเทศกาลอีสเตอร์กันนะคะ ตอนนี้คุณหมอวีซ่าก็กลับมาประจำการอยู่ที่ซิดนีย์แล้ว ท่านผู้อ่านคนไหนมีเรื่องอยากปรึกษา ก็สามารถโทรเข้ามาติดต่อได้ที่ 02-9267-8522 ได้เลยนะคะ

ผ่านพ้นไปแล้วสำหรับวีซ่านักเรียนทั้งหลาย ไม่ทันได้หายใจหายคอทางอิมมิเกรชั่นก็ออกข่าวว่าจะมีการปรับเปลี่ยนวีซ่าทำงาน หรือวีซ่านายจ้างสปอนเซอร์ (sc457) หลังจากที่ปีที่แล้วทางอิมมิเกรชั่นได้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบวีซ่าทำงาน จุดประสงค์เพื่อให้วีซ่าทำงานนำไปใช้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย และนำมาเพื่อหาลูกจ้างต่างชาติมาแทนที่อาชีพที่ขาดแคลนในตลาดแรงงานออสเตรเลีย ข่าวเรื่องการเปลี่ยนแปลงวีซ่าทำงานเพิ่งจะออกมาเมื่อวันที่ 18 มีนาคมที่ผ่านมานี่เองค่ะ สำหรับใครที่อยากอ่านแถลงการณ์ของท่านผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการตรวจคนเข้าเมือง Michaelia Cash ฉบับเต็ม สามารถอ่านได้ที่ลิงค์นี้เลยค่ะ https://www.minister.immi.gov.au/michaeliacash/2015/Pages/457-reforms-boost-integrity.aspx

ข้อเสนอที่ทางอิมมิเกรชั่นได้รับจากรายงานจะถูกนำมาปรับใช้ หรือออกเป็นข้อกฎหมายต่างๆเพื่อสนับสนุนวีซ่าทำงานที่โปร่งใส และปกป้องไม่ให้นายจ้างนำวีซ่าทำงานมากดดันแรงงานออสเตรเลียและแรงงานต่างชาติ ซึ่งการเปลี่ยนแปลงของวีซ่าทำงานจะเริ่มใช้ภายในเร็วๆนี้ค่ะ ซึ่งการเปลี่ยนแปลงของวีซ่าทำงานที่กำลังจะเกิดขึ้นมีดังนี้ค่ะ

  1. Sponsor monitoring – โปรแกรมในการตรวจสอบการจ้างแรงงานต่างชาติภายใต้วีซ่าทำงาน (457) โดยเฉพาะในสปอนเซอร์เพื่อป้องกันในการนำวีซ่าทำงานไปใช้ในทางที่ผิด ซึ่งจะการเฝ้าระวังจับตายังไงต้องติดตามกันต่อไปค่ะ
  2. ความร่วมมือระหว่างหน่วยงานรัฐต่างๆ – ทางอิมมิเกรชั่นจะมีการร่วมมือกับหน่วยงานทางราชการเช่น ATO (กรมสรรพากร) และกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (the Fair Work Ombudsman) เพื่อขอข้อมูลระหว่างกันในการตรวจสอบนายจ้างและลูกจ้างต่างๆ โดยเฉพาะกับความร่วมมือกับ ATO เพื่อตรวจสอบว่าลูกจ้าง 457 ทำงานในตำแหน่งที่ได้รับการสปอนเซอร์ และได้รับเงินเดือนไม่ต่ำกว่าที่กำหนด
  3. โดยเฉพาะสำหรับลูกจ้างต่างชาติที่ถือวีซ่าทำงานอยู่ ลูกจ้างต่างชาติส่วนใหญ่ไม่ทราบถึงสิทธิและข้อกำหนดของตัวเอง โดนส่วนใหญ่จะออกมาเรียกร้องก็ต่อเมื่อได้รับการปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมจากนายจ้างสปอนเซอร์ ทางอิมมิเกรชั่นจะนำเสนอข้อมูลตรงนี้เพิ่มเติมผ่านระบบออนไลน์เพื่อให้ลูกจ้างและนายจ้างทราบถึงสิทธิและข้อกำหนดต่างๆ
  4. หลายๆกรณีที่ลูกจ้างวีซ่า 457 จะต้องจ่ายนายจ้างในการทำวีซ่า หรือให้เงินนายจ้างเพื่อทำเรื่องสปอนเซอร์ให้ ถ้าหากทางอิมมิเกรชั่นพบว่ามีการปฏิบัติเช่นนี้จริง ทางอิมมิเกรชั่นจะออกกฎลงโทษนายจ้างให้ถือว่าการรับเงินจากลูกจ้างในการทำวีซ่าทำงานเป็นความผิดทางกฎหมาย
  5. ในปัจจุบันนายจ้างที่สปอนเซอร์ลูกจ้างในวีซ่าทำงาน (457) จะต้องมีการจ่ายเงินเพื่อเป็นการอบรมลูกจ้างที่เป็นพีอาร์ หรือถือสัญชาติออสเตรเลีย หรือจ่ายเงินให้กับหน่วยงานที่ฝึกอบรม ตามแต่ที่กฎหมายกำหนด หรือที่อิมมิเกรชั่นเรียกว่า ข้อกำหนด “มาตรฐานในการอบรม” (Training Benchmarks) จากรายงานที่จัดทำ ระบบ Training Benchmarks นั้นใช้ยากและพบว่ามีค่าใช้จ่ายที่สูง ถ้าหากมีเงินเดือนมาก ค่าเทรนนิ่งก็สูงขึ้น ทางรัฐบาลปัจจุบันจึงจะออกระบบในการดูแลค่าใช้จ่ายเรื่องการอบรมใหม่
  6. อัตราเงินเดือนขั้นต่ำ – ในปัจจุบัน การจะจ้างแรงงานภายใต้วีซ่า 457 นายจ้างจะต้องจ่ายเงินเดือนตาม Temporary Skilled Migration Income Threshold (TSMIT) ซึ่งในปัจจุบันอยู่ที่ $53,900 ต่อปี เพื่อให้ลูกจ้างสามารถทำงานดูแลตัวเองได้ แต่ในบางอาชีพ อาจจะต้องจ่ายมากกว่าตามอัตราตลาดแรงงาน เช่นอาชีพไอทีบางอาชีพ อาจจะถึง $70,000 เพื่อให้เทียบเท่ากับแรงงานชาวออสเตรเลีย ทางรัฐบาลอาจจะมีการเปลี่ยนแปลงระบบเงินเดือนขั้นต่ำ โดยเฉพาะในเขตพื้นที่ท้องถิ่น เพราะฉะนั้นต้องคอยติดตามกันต่อไปว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้างค่ะ
  7. เงื่อนไขด้านภาษาอังกฤษ – ต้องบอกว่าเงื่อนไขด้านภาษาอังกฤษถือเป็นเงื่อนไขหลักๆสำหรับเด็กไทยเลยนะคะ จากในปัจจุบันที่ผู้สมัครวีซ่าทำงาน จะต้องสอบ IELTS ให้ได้อย่างน้อย 5 ทุกแบนด์ไม่ว่าจะเป็นการอ่าน การเขียน การพูด หรือการฟัง แต่ทางอิมมิเกรชั่นจะออกเงื่อนไขใหม่โดยเปลี่ยนเป็นอย่างน้อยจะต้องสอบ IELTS ให้ได้คะแนนรวม และในแต่ละแบนด์ห้ามต่ำกว่า 4.5
  8. ในเรื่องของสปอนเซอร์เอง ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจเปิดใหม่ หรือธุรกิจที่ดำเนินงานมามากกว่า 10 ปีแล้วก็ตาม สปอนเซอร์ถือเป็นส่วนสำคัญสำหรับวีซ่านายจ้างสปอนเซอร์ ไม่ว่าจะเป็นร้านอาหาร ร้านนวด หรือบริษัทก็ตาม จะต้องพิสูจน์กับทางอิมมิเกรชั่นก่อนว่าบริษัทเราสามารถสปอนเซอร์ลูกจ้าง 457 ได้จริง จากในปัจจุบัน ในธุรกิจที่เปิดใหม่ sponsorship จะมีอายุ 12 เดือนด้วยกัน ก่อนที่จะขยายเป็น 3 ปี ถ้าหากต่อ sponsorship อีกครั้ง นับต่อไปนี้การอนุมัติ sponsorship สำหรับธุรกิจเปิดใหม่จะเพิ่มเป็น 18 เดือน และสำหรับการต่อครั้งต่อไปก็จะเพิ่มเป็น 5 ปี ทั้งนี้เพื่อเป็นการดึงดูดเงินลงทุนจากชาวต่างชาติเข้ามานั่นเอง
  9. Streamlined processing model – หลายๆคนอาจจะคุ้นกับคำนี้มาก่อนนะคะ วีซ่านักเรียนในปัจจุบันก็ใช้ระบบ streamlined visa processing ถ้าแปลเป็นไทยก็คงจะประมาณระบบการพิจารณาวีซ่าแบบเอื้อผู้สมัคร เช่นเดียวกับวีซ่านักเรียนที่มักจะมีหลายๆปัจจัยในการพิจารณาว่าเป็นผู้ที่อยากมาเรียนจริงมั้ย ไม่ว่าจะเป็นสถานะสังคม การเงินและอื่นๆ ซึ่งวีซ่าทำงาน 457 ก็จะมีการนำระบบนี้มาใช้ด้วยเช่นเดียวกันเพื่อตรวจสอบนายจ้างและลูกจ้างว่ามีประวัติกระทำผิดกฎวีซ่ามั้ย นายจ้างมีประวัติมาก่อนมั้ยเป็นต้น ถ้าหากไม่มีประวัติ วีซ่าก็จะผ่านง่ายขึ้น ถ้าหากมีประวัติ วีซ่าก็ผ่านยากขึ้นเป็นต้น ซึ่งทางอิมมิเกรชั่นก็จะมองหามาตรการในการจัดการระบบนี้ต่อไป

ที่คุณหมอวีซ่ายกมาเป็นการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นกับวีซ่า 457 หลักๆนะคะ

อันนี้เป็นเพียงข้อตอบรับจากทางอิมมิเกรชั่นต่อรายงานที่ทางอิมมิเกรชั่นได้สั่งจัดทำขึ้น ซึ่งเราก็ต้องมาติดตามต่อไปว่าการเปลี่ยนแปลงต่อไปนี้จะออกมาเป็นกฎหมายหรือข้อบังคับต่อวีซ่าทำงานอย่างไรต่อไป สำหรับท่านผู้อ่านไหนที่ต้องการอ่านข้อมูลเพิ่มเติม สามารถอ่านได้ที่ https://www.immi.gov.au/pub-res/Pages/reviews-and-inquiries/independent-review-457-programme.aspx หรือ https://www.immi.gov.au/pub-res/Pages/reviews-and-inquiries/government-response.aspx

และถ้าทางอิมมิเกรชั่นจะออกกฎเปลี่ยนในเรื่องของวีซ่าทำงานอย่างไร คุณหมอวีซ่าจะนำมาบอกกล่าวกันค่ะ ซึ่งทางซีพี ซิดนีย์เองก็จะมีการจัดสัมมนาอัพเดทข้อมูลกันอีกครั้งค่ะ สำหรับวันนี้คุณหมอวีซ่าลาไปก่อนค่ะ


ภาพบรรยากาศนิทรรศการศึกษาต่อต่างประเทศ CP World Study English Fair 2015

เมื่อวันเสาร์ 28 กุมภาพันธ์ 2015 ณ โรงแรมปทุมวัน ปริ้นเซส กรุงเทพฯ

มีคำถามเกี่ยวกับการสมัครหรือสถานะวีซ่าออสเตรเลียของคุณ? ต้องการสมัครเพื่อศึกษาต่อ ทำงาน หรืออาศัยอยู่ในออสเตรเลีย? สามารถขอคำแนะนำจากทีมคุณหมอวีซ่าได้ที่: