18 May 2016

สวัสดีปีค่ะ   คุณหมอวีซ่าฉบับนี้ ขอเริ่มต้นด้วยการแสดงความยินดีกับน้องบี (นามสมมุติ) ที่เพิ่งชนะเคสอุทธรณ์ที่อนุญาโตตุลาการฯ (Administrative Appeal Tribunal หรือ AAT) มาหมาดๆ โดยทางตุลาการได้ตัดสินส่งเรื่องกลับไปให้ ทางอิมมิเกรชั่น พิจารณาคืนวีซ่า (remit)ให้กับน้องบีหลังจากที่ได้ทำการปฏิเสธ วีซ่าคู่ครอง (partner visa sc820 ) ของน้องเขาไปแล้วเมื่อประมาณ 2-3 ปีก่อน (รอคิวฟังเรื่องที่ AAT นานมว๊ากกกก)

ที่คุณหมอวีซ่าเอาเรื่องของน้องบีมาเขียนในวันนี้ ก็เพราะเป็นเรื่องที่น่าสนใจมาก เป็นกรณีของนโยบายทางกฏหมายที่ว่าก็ว่าเหอะ ที่ผู้ยื่นไม่ได้รับความยุติธรรมเป็นอย่างยิ่ง ตอนยื่นเคสกฎหมายว่าไว้อย่างหนึ่ง แต่พอเคสยื่นไปแล้ว อิมฯดองไว้กว่า 10 เดือน พอใกล้จะถึงคิวตัดสิน กฎหมายเกิดเปลี่ยนแปลงโดยไม่มีการบอกกล่าวล่วงหน้า และเจ้าหน้าที่ก็ดันยืนยันต้อง apply นโยบายของกฎหมายใหม่มาทำการตัดสินปฏิเสธวีซ่าทั้งๆที่ ผู้ยื่นมีคุณสมบัติและเงื่อนไขเข้าข่ายตรงตามที่กฎหมายระบุไว้ทุกอย่าง ณ เวลายื่นเรื่องและเข้าใจว่ามีคู่รักหลายๆคู่ที่กำลังประสบกับปัญหาการที่วีซ่าถูกปฏิเสธ โดยมีกรณีที่ใกล้เคียงกับน้องบี คือ ณ เวลาที่ยื่นวีซ่าคู่ครองนั้น ผู้ยื่นไม่มีวีซ่าถืออยู่ในมือ ก็คือวีซ่าได้ขาดไปนานแล้ว หรือตามประสาชาวบ้านที่รู้กันว่าอยู่เป็นโรบินฮู้ดที่ออสเตรเลียมาตั้งหลายปีจนกระทั่งเจอคู่รักหรือคู่ครองชีวิต และได้ใช้ชีวิตคู่กินอยู่ร่วมกันมานานเกินสองปีหรือหนึ่งปี+มีลูกด้วยกัน จึงตัดสินใจยินเรื่องวีซ่าคู่ครองที่ประเทศออสเตรเลียทั้งๆที่ผู้ยื่นไม่มีวีซ่าหลักถืออยู่ในมือแล้ว (แต่ไม่อยากกลับไปยื่นที่เมืองไทยเพราะมีความกลัวว่าจะกลับมาไม่ได้อีก) โดยการยื่นเรื่องในลักษณะแบบนี้ ยื่นไปโดยยึดตามนโยบายของ รัฐบาลออสเตรเลียที่ออกมาเมื่อเดือนกันยายน ปี ค.ศ. 2009 ที่อนุมัติให้ คู่ครองของ Australian citizens or permanent residents (PR) ทั้งหลายที่ไม่เคยติดประวัติอาชญากรรมและไม่เคยถูกปฏิเสธวีซ่าคู่ครองมาก่อนในประเทศออสเตรเลียให้สามารถยื่นวีซ่าคู่ครอง subclass 820 ที่ประเทศออสเตรเลียได้โดยไม่ต้องเดินทางกลับไปยืนที่ต่างประเทศ

ช่วงที่นโยบายข้อนี้ออกมาคุณหมอวีซ่าจำได้ว่าเราได้ช่วยลูกค้ายื่นเข้าไปหลายเคสมากแล้วก็ได้วีซ่าสำเร็จออกมาตามๆกัน จึงเชื่อได้ว่ารัฐบาลจริงจังกับนโยบายที่ประกาศใช้ในครั้งนั้น แต่ท่านผู้อ่านเชื่อไหมคะ จู่ๆ เมื่อเดือนกุมภาฯปีค.ศ. 2014 รัฐบาลออสเตรเลียก็ตัดสินใจเปลี่ยนนโยบายข้อนี้เฉยเลยโดยเพิ่มเงื่อนไขเข้าไปอีกประการหนึ่งก็คือ นอกจากผู้ยื่นจะต้องมีคุณสมบัติตรงตามเงื่อนไขที่ประกาศไว้ คือมีความสัมพันธ์สองปีกับคนที่นี่ หรือหนึ่งปี + มีลูกด้วยกันให้สามารถยื่นวีซ่าคู่ครองที่ออสเตรเลียได้แล้ว ยังต้องเพิ่มเข้าไปอีกข้อว่า ผู้ยื่นไม่ได้จงใจหรือเจตนาปล่อยให้วีซ่าตัวเองขาด เพื่อหาคู่ที่นี่ และอยู่ยืดเวลาให้ครบสองปี หรือหนึ่งปี + มีลูกกับคนที่นี่ เพื่อเปิดโอกาสให้ตัวเองยื่นวีซ่าที่ออสฯได้โดยไม่ต้องกลับบ้านตน และพิสูจน์ได้ว่าผู้ยื่นได้พยายามไปต่อวีซ่า แล้ว แต่ไม่ประสบความสำเร็จ และการที่วีซ่าตัวเองขาดนั้นก็เกิดจากปัจจัยที่อยู่นอกเหนือการควบคุมของตนเองอย่างแท้จริง โดยมีเหตุผลที่น่าเห็นใจน่าสงสารเพียงพอที่จะต้องพิสูจน์ให้เป็นที่พึ่งพอใจของเจ้าหน้าที่อิมมิเกรชั่น ถึงจะมีโอกาสผ่านวีซ่าได้ พอนโยบายข้อนี้เปลี่ยนไปเป็นเช่นนี้ ก็ตัดโอกาสผู้ที่ไม่มีวีซ่าทั้งหลายให้ถูกปฏิเสธวีซ่าไปตามๆกัน ก็เลยทำให้เคสไปติดก่ายกองอยู่ที่อนุญาโตตุลาการพิจารณาเรื่องอุธทรณ์หรือ AAT มาเป็นเวลาหลายปีเลย

ปัญหาที่ผู้ยื่นหรือตัวแทนของผู้ยื่นเผชิญอยู่ ณ เวลานั้น ก็คือในช่วงที่ยื่นวีซ่า ผู้ยื่นมีคุณสมบัติครบถ้วน เข้าข่ายตามกฏหมายให้ผ่านวีซ่าได้ แต่จู่ๆรัฐบาลก็มาเปลี่ยนใจหลังจากที่ยื่นเคสเข้าไปและเสียเงินไปมากมายแล้ว และการเปลี่ยนนโยบายนั้นก็ไม่ยุติธรรม แทนที่รัฐบาลฯ จะให้ apply นโยบายใหม่ ณ เวลาของการยื่นวีซ่า (at time of application) แต่กลับกลายเป็นให้ apply นโยบายใหม่ ณ เวลาที่ตัดสินเรื่อง (at time of decision) อย่างไม่ยุติธรรมเป็นอย่างยิ่ง และพอเรื่องต่างๆที่ถูกปฎิเสธนั้นไปขึ้นอนุญาโตตุลาการ ก็ได้รับคำยืนยันจากตุลาการว่าไม่สามารถทำอะไรให้ได้ เพราะกฎหมายเปลี่ยน จึงต้องยืนยันการถูกปฏิเสธวีซ่า จนผู้ยื่นหลายท่านต้องเดินทางกลับไปยื่นที่ประเทศของตนใหม่อย่างน่าเสียใจ

ในกรณีของน้องบีก็เช่นกัน น้องบีมาพบคุณหมอวีซ่าตอนที่กฎหมายเก่ายังมีผลบังคับใช้อยู่คือ น้องบีมีความสัมพันธ์เกินสองปีกับคนที่ถือใบถิ่นฐานถาวร หรือถือสัญชาติที่นี่ โดยไม่ติดเงื่อนไข No Further Stay หรือ 8503 มา จึงสามารถยื่นเรื่องวีซ่าคู่ครองที่นี่ได้โดยที่ไม่ต้องเดินทางกลับไปกินที่เมืองไทย แต่พอยื่นเรื่องไปได้ประมาณ 10 เดือนก็ใกล้จะถึงเวลาตัดสินใจเต็มทน ปรากฏว่ารัฐบาลดันไปเปลี่ยนกฎหมายกลางคัน ทำให้ ณ เวลาที่ตัดสินเรื่องน้องบีนั้น เจ้าหน้าที่ก็ได้นำเอานโยบายชุดใหม่เข้ามาใช้เต็มๆ และทำการปฏิเสธวีซ่าของน้องบีเฉยเลย คุณหมอวีซ่าก็ได้พยามอธิบายเรื่องทางกฎหมายให้น้องบีและสปอนเซอร์ของเค้าฟังให้เข้าใจถึงกฎหมายที่เปลี่ยนแปลงไป โดยเราไม่สามารถไปแก้ไขอะไรได้ ต้องขึ้นตุลาการอย่างเดียวเลย  การเปลี่ยนใจของรัฐบาลเปรียบเสมือนกับเจ้าของบ้านที่จู่จู่ ก็ไม่ให้ผู้เช่าอยู่บ้านของเขาอีกต่อไปแล้วโดยไม่มีเหตุผล และเราในฐานะผู้เช่าก็ไม่สามารถที่จะทำอะไรได้เพราะไม่ใช่เป็นบ้านเรานั่นเอง

แต่ก็ต้องขอบคุณน้องบีกับแฟนน้องบีที่มีความเชื่อมั่นในตัวคุณหมอวีซ่าอย่างสูงยิ่ง ทั้งๆที่คุณหมอวีซ่าบอกซ้ำแล้วซ้ำอีกว่า ไม่สามารถรับทำเคสระดับตุลาการให้ได้ เนื่องจากคุณหมอวีซ่ามีธุระที่ต่างประเทศมากมาย และจะต้องเดินทางบ่อยมาก จึงไม่สามารถลงเวลาให้น้องเต็มที่ได้ จึงเสนอให้โอนเคสไปให้ทนายคนอื่นทำเรื่องให้ แต่น้องบี อาจจะด้วยความศรัทธา หรือดวงที่สมพงษ์กันก็มิอาจทราบได้ น้องบีก็มาขอร้องแล้วก็ร้องอีกและยืนยันว่าจะต้องให้คุณหมอวีซ่าเป็นตัวแทนของน้องให้จนได้ ในที่สุดคุณหมอวีซ่าก็พ่ายแพ้ให้กับความพยายามของน้อง และรับปากทำเคสให้โดยที่ต้องอาศัยรีโมทคอนโทรลบ้างในบางครั้งในระหว่างที่ตัวไม่ได้อยู่ในออสเตรเลีย

ในที่สุด เมื่อสองสัปดาห์ที่ผ่านมา ทางอนุญาโตตุลาการเรียกตัวขึ้นศาลไปทำการไต่สวน เพื่อพิจารณาเรื่องอุทธรณ์ของน้องบี คุณหมอวีซ่าก็เดินทางกลับมาจากเมืองไทย เพื่อไปขึ้นตุลาการพร้อมกับน้องบีและแฟน ไปทั้งๆที่รู้ว่านโยบาย ได้มีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างไม่ยุติธรรมและมีโอกาสที่จะไม่ชนะเคส เนื่องจากกฎหมายว่าไว้อย่างนั้น พวกเราทุกคนก็เลยทำใจว่ามีโอกาสที่ท่านตุลาการ จะไม่เห็นด้วยกับเราแล้วก็อ้างว่ากฎหมายเป็นอย่างนั้น ท่านทำอะไรไม่ได้ แต่ท่านผู้อ่านเชื่อมั้ยคะ บางครั้งเวลาเราจนตรอกไม่มีเหตุผลไม่มีกฎหมายที่จะ back เรา up ก็ต้องใช้ภาษาชาวบ้านพูดกับทางตุลาการอย่างตรงไปตรงมา บางครั้งก็ต้องอาศัยไหวพริบกับความจริงใจเข้าว่าเลย

ในกรณีของน้องบี ตอนขึ้นศาล ท่านตุลาการถามว่าในฐานะที่เป็นตัวแทนของผู้ยื่นครั้งนี้ คุณมีอะไรจะพูดหรือโต้แย้งรึเปล่า คุณหมอวีซ่าก็เลยเรียนท่านว่า “ท่านคะ ตั้งแต่ดิฉันเป็นที่ปรึกษาทางกฎหมายเข้าเมืองมานานเกือบ 20 ปี เคสนี้เป็นเคสที่ดิฉันและทีมงานมีความลำบากใจมากที่สุดในการเขียนข้อโต้แย้งและอ้างอิงกฏหมาย มันเปรียบเสมือนกรณีที่หลานน้อยของดิฉันไปเรียนหนังสือ และคุณครูสอนว่า “1+1 เป็น 2 และ 2+2 เป็น 4” มาโดยตลอด แต่จูๆวันหนึ่งตอนทำข้อสอบคุณครูบอกว่าไม่อยากเห็น “2+2 เป็น 4 อีกต่อไปละ อยากเห็น 2+2 เป็น 3” หลานก็เลยสอบตก เป็นเช่นนี้แล้วท่านจะให้ดิฉันอธิบายให้หลานน้อยฟังอย่างไรดี ว่าเป็นความผิดของใครเหรอ? ท่านตุลาการฟังแล้วก็ยิ้มๆ อย่างพึงพอใจ พร้อมบอกว่า “ถ้าสูตรต่างๆมันง่ายเช่นนั้นก็ดีสินะ แต่ฉันเองก็ให้ความมั่นใจกับผู้ยื่นอุทธรณ์ได้ว่า การตัดสินใจนั้นไม่ได้ตัดสินเฉพาะจากกฎหมายอย่างเดียวเท่านั้น หากแต่ฉันมองภาพรวม โดยใช้เหตุผลรวมเป็นหลัก” จากนั้นท่านก็สัมภาษณ์ทั้งผู้ยื่นและสปอนเซอร์จนกระทั่งท่านพอใจ แล้วพวกเราก็รอเรื่องไปประมาณเกือบสองสัปดาห์ ก็ได้คำตอบมาว่าท่านได้ตัดสินใจแทงเรื่องกลับไปให้ทางอินเกชั่นพิจารณา
คืนวีซ่าให้กับน้องบี

ณ เวลาที่เขียนเรื่องนี้ทางเจ้าหน้าที่อิมมิเกรชั่นก็ได้ติดต่อกับคุณหมอวีซ่ากลับมาแล้ว ได้บอกให้ส่งผลตรวจร่างกายกับสันติบาลไปให้เท่านั้น เค้าก็จะปิดเคสให้ จากนั้น คุณหมอวีซ่าก็จัดการทำเรื่องเพิ่มเติมให้น้องบี  โดยเอาผลประโยชน์ของลูกค้ามาเป็นหลักโดยการต่อรองให้ทางเจ้าหน้าที่  ออกเป็นวีซ่าถาวร subclass 801 พีอาร์ให้น้องเขาเลย เจ้าหน้าที่ก็ตอบว่ายินดีรับพิจารณาให้ แค่นี้คุณหมอวีซ่าก็ดีใจมากแล้วที่สามารถช่วยเปลี่ยนอนาคตให้กับน้องบี คนหนุ่มมาดมั่นที่มีความสามารถ มีความเชื่อมั่นในตนเองสูงมาก อนาคตคุณหมอวีซ่าก็เชื่อว่าคนหนุ่มอย่างน้องบีนั้น ก็สามารถสร้างความเจริญเติบโตและอุทิศตนให้กับสังคมในประเทศออสเตรเลียได้ อย่างไม่ต้องสงสัยเลย ข่าวดีอันดับต่อมาที่คุณหมอวีซ่าได้รับ ก็คือน้องบีเพิ่งได้รับ offer งาน full time จากธนาคารที่ขึ้นชื่อและมั่นคงแห่งหนึ่งในประเทศออสเตรเลีย คุณหมอวีซ่าพร้อมทีมงานก็ขอแสดงความยินดีสองเด้งกับความสำเร็จในจุดหมุนเข็มชีวิตของน้องบีอย่างใจจริงนะคะ

Waensila v Minister for Immigration and Border Protection (2016) FCAFC 32 (11 March 2016). ชนะคดี โดยการมีคำสั่งให้ทางศาลอนุญาโตตุลาการเพิกถอนการตัดสินใจ ที่มีการยืนยันการตัดสินใจของอิมมิเกรชั่นว่าเป็นการปฏิเสธวีซ่าที่ต้องตามกฏหมาย  ส่งผลให้ผู้ยื่นได้รับวีซ่าคืน และหลังจากนี้ หากมีกรณีใกล้เคียงเยี่ยงตัวอย่างนี้อีก หรือผู้ยื่นวีซ่าคู่ครองในกรณีใกล้เคียงดังที่คุณหมอวีซ่าได้เขียนเล่ามาให้ฟังข้างต้นที่ถูกปฏิเสธวีซ่ามาอย่างไม่ยุติธรรม ก็น่าจะมีสิทธิ์ที่จะได้วีซ่าคืนอย่างไม่ยากนักอีกต่อไปแล้ว

ขอเรียนว่าเราอาจจะอยู่ห่างแต่กาย แต่ใจไม่ได้อยู่ห่างเลยนะคะ

สำหรับวันนี้คุณหมอวีซ่ามีเวลาให้กับการเขียนบทความเพียงแค่นี้ ก่อนจะจากกันไปในวันนี้ ขอส่งข่าวดีให้เตรียมตัวกันแต่เนิ่นๆ โดยลงวันที่ปักไว้ในปฏิทินเลยเสียตั้งแต่ตอนนี้เลยเพื่อกันพลาด ในงาน “CP Study in Australia 2016 Fair” จัดโดย CP International สาขา Bangkok ปีนี้ตรงกับ “วันเสาร์ที่ 2 กรกฎาคม 2559” และจัดเช่นเคยที่ “โรงแรมปทุมวันพริ้นเซส ที่มาบุญครอง”  รับประกันว่าปีนี้สนุกมากกว่าทุกปีที่ already คนแน่นมากอยู่แล้ว เนื่องจากเราได้เชิญ เซเล๊ปคนดังมาร่วมงานกับเราถึงสามท่าน และคุณหมอวีซ่าเองก็จะบรรยายถึงกฎหมายที่มีการเปลี่ยนแปลงไปสำหรับผู้ที่อยากจะขอวีซ่ามาตั้งหลักแหล่งอยู่อย่างถาวรในประเทศออสเตรเลียโดยอาศัยทักษะและความสามารถของตนเองโดยเฉพาะวิชาชีพด้านวิศวกรรมศาสตร์ ที่กำลังรุ่งและมาแรง รับรองไม่ผิดหวังแน่นอน ช่วยๆกันประชาสัมพันธ์บอกต่อเพื่อนๆลูกๆหลานๆ นัดกันวันที่ 2 กรกฎาคม นี้ เจอกับคุณหมอวีซ่าพร้อมมาเฮฮากับเซเล๊ปของเรา พร้อมรับของกำนัล ฟังข้อมูลเพียบ จัดเพียงปีละครั้งเท่านั้นที่โรงแรมปทุมวันพริ้นเซส อย่าพลาดนะคะ

แล้วไว้พบกันใหม่ใฉบับหน้านะคะ..  

ด้วยความปรารถนาดี

คุณหมอวีซ่า


คุณปิ๊ปคุณคริสจาก CP Inter ไปเยือนสถาบันภาษาที่ Melbourne มา – Explore English กับ Greenwich แตกหน่อแล้วที่เมลเบิร์น

มีคำถามเกี่ยวกับการสมัครหรือสถานะวีซ่าออสเตรเลียของคุณ? ต้องการสมัครเพื่อศึกษาต่อ ทำงาน หรืออาศัยอยู่ในออสเตรเลีย? สามารถขอคำแนะนำจากทีมคุณหมอวีซ่าได้ที่: